ระหว่างวันที่ 27 -28 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายแพทย์ ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ นายวุฒิชัย ชัยภูวนารถ นายอำเภอปากคาด พ.จ.อ.โสภณ สิทธิจันทร์ นายอำเภอโซ่พิสัย นายนิพนธ์ คนขยัน สส พื้นที่เขต 3 น.พ.ตฤณกฤต สิทธิศร นพ.ชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรเจริญ นายมนตรี จารุธำรง นายอำเภอพรเจริญ พ.ต.อ.ศิวัช วรคุตตานนท์ ผู้กับการสถานีตำรวจภูธรปากคาด นายแพทย์จรูญ สุรารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากคาดนางแว่นฟ้า ทองศรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ นายภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ หมอแล็บแพนด้า นายพงษ์พันธ์ วิจารย์ประสิทธิ์ เจ้าของเพจคุณพระ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. และคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จังหวัดบึงกาฬ
เพื่อเป็นการสนับสนุนงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ การดำเนินงานด้าน ยาเสพติดของรัฐบาล และสำนักงาน ป.ป.ส. รวมทั้ง เป็นการสร้างความสัมพันธ์สื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสื่อสารได้อย่างถูกต้องอันจะเกิดภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงาน รวมไปถึงนโยบายต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน เป้าหมายให้เกิดความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดผ่านการศึกษาดูงานการบำบัด และฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดมากที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในปี 2567 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าปี 2566 และหากเทียบกับจำนวน
ผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทั้งประเทศในปี 2567 จะมีปริมาณมากกว่าภาคอื่นๆ เมื่อเทียบจากจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทั้งหมดในประเทศ จึงถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่ควรมีการเฝ้าระวัง ติดตามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงพื้นที่บำบัด และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่
พื้นที่อำเภอปากคาดโดยศึกษาดูงานค่ายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเป็นค่ายฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดจำนวน 120 วัน ประกอบด้วยผู้บำบัดชายล้วน จำนวน 40 คน โดยมีกระบวนการบำบัด 2 เดือนแรก จะเน้นไปที่การฟื้นฟูสมอง โดยการให้ความรู้กึ่งวิชาการ จากทำกิจกรรมฟื้นฟูสมอง เช่น กิจกรรมสันทนาการ นันทนาการ และใน 2 เดือนหลังจะเป็นการฝึกอาชีพ เช่น ซ่อมเครื่องยนต์ ทำพรมเช็ดเท้า อาหารแปรรูป เป็นต้น โดยค่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูยาเสพติดที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาภายในชุมชน ที่มีผู้เสพผู้ติดเป็นจำนวนมาก โดยเน้น การเข้ารับการบัดบัดโดยสมัครใจ และการผลักดันจากคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันสร้างปลอดภัยโดยกิจกรรมการจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างพลังชุมชนเข้มแข็งคืนคนคุณภาพสู่สังคม
พื้นที่ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่อำเภอพรเจริญ โดยมีการศึกษาดูงานในโรงพยาบาลพรเจริญซึ่งเป็นการศึกษาบำบัดผู้ติดยาเสพติดขั้นรุนแรง ปัจจุบันมีจำนวน 7 คน ต้องดูแลใกล้ชิด และมีการรักษาโดยการให้ยา มีระยะเวลา 14 วัน และมีการสาธิตการทำครอบครัวบำบัด เนื่องจากเป็นผู้ป่วยขั้นรุนแรงที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่สามารอยู่ร่วมกับชุมชนได้ จึงต้องการการรักษาในโรงพยาบาล และ เมื่ออาการดีขึ้นก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีครอบครัวที่คอยดูแลอย่างถูกวิธีจึงเกิดการทำครอบครัวบำบัดขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างปลอดภัย
รวมถึงมีการศึกษาดูงานจากค่ายบ้านเจริญสุข กองร้อยอาสารักษาดินแดน เป็นจุดต่อเนื่องจากโรงพยาบาลพรเจริญ ซึ่งเป็นค่ายฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 120 วัน ประกอบด้วยผู้บำบัดชายล้วนจำนวน 41 คน ซึ่งผ่ากระบวนการบำบัดการฟื้นฟูสมอง โดยการให้ความรู้ และการทำกิจกรรมฟื้นฟูสมอง เช่น การวาดภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกาย และภายหลังเป็นการฝึกอาชีพ เช่น ช่างปูน ซ่อมเครื่องยนต์ ปลูกพืช เลี้ยงปลา เป็นต้น เพื่อนำผู้เสพผู้ติดที่มีอาการดีขึ้นจากอาการป่วยขั้นรุนแรงที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมอง และการฝึกอาชีพเพื่อคืนคนคุณภาพสู่สังคมต่อไป
พื้นที่สุดท้ายเป็นการศึกษาดูงานในพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย ผ่านการศึกษาดูงานกองร้อย อส.อำเภอโซ่พิสัย ซึ่งเป็นค่ายฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ประกอบด้วยผู้บำบัดชาย 196 คน ผู้บำบัดหญิง 30 คน โดยมีกระบวนการบำบัด 3 ระบบ คือ การล้างพิษโดยการใช้ยาจากจิตแพทย์ การเข้าค่ายมินิธัญญารักษ์ และการเข้าค่ายฟื้นฟู 120 วัน ซึ่งมีทั้งการฟื้นฟูสมอง และการฝึกอาชีพ เพื่อลดโอกาสการกลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน
นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้าย ว่า กิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดีของทุกภาคส่วน และนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ผ่านสื่อมวลชน ซึ่งมีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน เพื่อพัฒนากระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผุ้เสพผู้ติด ยาเสพติดการฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทั้งกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และผู้เข้ารับการบำบัด รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีกครั้ง เพราะผู้เสพ คือ ผู้ที่ก้าวพลาดที่เราทุกคนพร้อมจะหยิบยื่นโอกาสให้ร่วมกันสร้าง “พลังชุมชนเข้มแข็ง คืนคนมีคุณภาพสู่สังคม”