นายกฯเซ็นตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวางทำประชามิร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 35 คนแล้ว ยังไม่ปรากฎรายชื่อตัวแทนพรรคก้าวไกล "ภูมิธรรม" ระบุจะทราบแนวทางทำประชามติภายในสิ้นปีนี้ และจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จภายในวาระของรัฐบาล 4 ปี ยืนยันเปิดก้างรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนให้มากที่สุด
วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แล้ว โดยมีกรรมการจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมเป็นกรรมการ 35 คน
"หลังครม.มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการฯ และมอบหมายให้ผมเป็นผู้ดำเนินการ ผมใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะช้าไปบ้างเพราะว่าต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในหลักการทำงานของคณะกรรมการกับคนที่จะเชิญมาร่วมกันทำงานก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งจนไม่สามารถทำงานได้ หลักการที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีการแตะต้องหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และไม่แตะต้องพระราชอำนาจที่อยู่ในกฎหมายอื่นๆ ถ้ารับหลักการนี้ได้ก็มาทำงานร่วมกัน"
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่าความตั้งใจของรัฐบาลคือจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 4 ปี หากเสร็จก่อนได้ก็เป็นเรื่องดี ซึ่งคำว่าเสร็จสมบูรณ์นั้นหมายถึงการทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จเรียบร้อยด้วย การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้เลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับและผ่านความเห็นชอบจากประชาชน
ส่วนแนวทางในการทำประชามตินั้นที่ทำกันมามีอยู่ 3 แนวทาง แนวทางแรกคือให้ประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 รายชื่อเสนอให้ทำประชามติ ซึ่งแนวทางนี้อาจใช้เวลานานเพราะต้องรอการตรวจสอบรายชื่อ แนวทางที่สองคือให้สมาชิกเสนอผ่านสภาซึ่งก็อาจมีปัญหาตามมาหากว่าไม่ผ่านความเห็นชอบแนวทางสุดท้ายคือให้ ครม.มีมติให้ทำประชามติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการทราบข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางจึงให้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ซึ่งจะมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนร่วมเป็นกรรมการทั้งสิน 35 คน โดยมีตนเป็นประธาน และได้นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 9 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเดินสายฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีไม่มีรายชื่อตัวแทนจากพรรคก้าวไกลร่วมเป็นกรรมการว่า ได้พูดคุยกันในหลักการแล้วพรรคก้าวไกลยินดีเข้าร่วม แต่เขาขอเวลาพิจารณาตัวบุคคลที่จะให้มาร่วมเป็นกรรมการก่อนซึ่งเราก็เว้นโควตาเอาไว้ให้แล้ว
"วางกรอบเวลาไว้ว่าก่อนสิ้นปีนี้ต้องได้แนวทางการทำประชามติ ส่วนต้องทำประชามติกี่ครั้งนั้นก็ต้องอิงตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้ ซึ่งถ้าให้พูดตอนนี้อาจต้องทำกันถึง 4-5 ครั้ง แต่จะพยายามให้น้อยครั้งที่สุดอาจจะเหลือ 2 หรือ 3 ครั้ง แน่นอนว่าครั้งแรกต้องถามว่าเห็นชอบกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เมื่อร่างเสร็จก็ทำประชามติถามว่าเห็นชอบหรือไม่ ถ้าทำแค่นี้ก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการประชามติทั้ง 35 คน มีดังนี้ 1. นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะ 2. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 3. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองประธานกรรมการคนที่สอง 4. นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษก 5. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 6. นายพิชิต ชื่นบาน ตัวแทนที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 7. พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม 8. พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา 9. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง 10. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 11. นายวิรัตน์ วรศสิริน 12. นายศุภชัย ใจสมุทร 13. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 14. นายวิเชียร ชุบไธสง 15. นายวัฒนา เตียงกูล 16. นายยุทธพร อิสรชัย 17. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 18. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 19. นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 20. นายประวิช รัตนเพียร 21. นายนพดล ปัทมะ 22. นายธนกร วังบุญคงชนะ 23. นายธงชัย ไวยบุญญา
24. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ 25. นายเดชอิศม์ ขาวทอง 26. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ 27. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ 28. นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ 29. นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี 30. น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ 31.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ 32. ผู้แทนพรรคก้าวไกล 33. นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ 34. นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา 35. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ