บอร์ด รฟม. เคาะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือ 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล คาดเริ่มได้ภายในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ระบุรายได้จะหายไปปีละประมาณ 190 ล้านบาท แต่จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 10,000 คน
การประชุมคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสาร MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน เป็น 20 บาทตลอดสาย เบื้อต้นจะใช้กับผู้ถือบัตรโดยสาร EMV เท่านั้น
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม. ระบุว่า นอกจากปรับอัตราค่าโดยสารแล้วที่ประชุมยังเหนชอบหลักการกำหนดส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้า สายสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต โดยจะเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน และจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที โดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน
"จะรายงานผลการประชุมไปที่กระทรวงคมนาคม ในที่ 29 ก.ย. เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้" ผู้ว่า รฟม. กล่าวและว่า จะใช้เวลา 1 ปีในการประเมินผลทั้งเรื่องจำนวนผู้โดยสารและเรื่องจุดคุ้มทุนในการเดินรถที่ไม่ต้องใช้เงินมาอุดหนุนหรือชดเชยในไนาคต
ทั้งนี้คาดว่าหลังปรับค่าโดยสารแล้วรายได้ของสายสีม่วงจะลดลง 60% หรือประมาณปีละ 190 ล้านบาท ในทางกลับกันจะทำให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้นประมาณวันละ 10,000 คน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 56,000 คน เพิ่มเป็นวันละ 66,000 คน ปัจจุบันการเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 8 สถานี จากทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ที่สถานีบางซ่อนยังมีจำนวนไม่มาก ประมาณ 100-200 คนต่อวันเท่านั้น
"ที่ผ่านมารฟม.นำส่งรายได้จากสายสีม่วงไปยังกระทรวงการคลัง อยู่ที่ประมาณ 20-25% ของกำไรสุทธิต่อปี ปี 2563 นำส่งรายได้ 300 ล้านบาท ปี 2564 นำส่ง 467 ล้านบาท ปี 2565 นำส่ง 311 ล้านบาท ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้ที่จะต้องนำส่งอยูที่ประมาณ 223 ล้านบาท"นายภคพงศ์ กล่าวและว่า สำหรับการปรับค่าโดยสารสายสีน้ำเงินเบื้องต้น รฟม. ได้หารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปกรณีลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย ซึ่งในเรื่องนี้ทราบว่ากระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของการปรับค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายของไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บอร์ด รฟท.มีมติเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 เห็นชอบดำเนินการตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลได้ในช่วงปีใหม่ 2567 ซึ่งในส่วนของสายสีแดงรัฐต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างรายได้ที่ขาดหายไปประมาณปีละ80 ล้านบาท
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ รฟม.: https://www.mrta.co.th/th/