"เศรษฐา"บินกลับจากร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติถึงไทยแล้ว แถลงโชว์ความสำเร็จโดยเฉพาะเรื่องการคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯหลายแห่ง ฟุ้งเทสลา ไมโครซอฟท์ กูเกิล เตรียมหอบเงินมาลงทุนในไทยขั้นต้นบริษัทละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สเต็ปต่อไปดูดเงินลงทุนจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าอีกมหาศาล หวังปีนี้มีบริษัทไทยจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดนิวยอร์ค พร้อมเตรียมต่อยอดความสำเร็จในเวทีเอเปกช่วงเดือนพ.ย.นี้ โดยจะหนีบบริษัทไทยไปหาลู่ทางขยายธุรกิจด้วย
วันที่ 24 กันยายน 2566 ที่ห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการเดินทางไป เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-22 กันยายนที่ผ่านมา ว่า ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี การไปครั้งนี้มีโอกาสบปะกับผู้นำหลายชาติ ได้กล่าวสุนทรพจน์ทั้งสิ้น 5 ครั้ง พบองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ทั้ง เทสลา ไมโครซอฟท์ กูเกิล ซิติแบงก์ เจพี มอร์แกน Global ZAC เอสเต ลอเดอร์ ซึ่งทั้งหมดให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และมีหลายบริษัทที่ได้ลงทุนไปบ้างแล้ว
นอกจากนี้ยังมีโอกาสไปเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่น่าแปลกใจว่าไม่มีบริษัทของไทยไปจดทะเบียนที่นั่นเลย ก็คาดหวังว่าภายในปีนี้น่าจะมีบริษัทของไทยไปจดทะเบียนได้สัก 1 แห่ง
"ความกังวลต่างๆเกี่ยวกับประเทศไทยในหมู่นักลงทุนต่างชาติลดน้อยลงไปมาก แต่ก็ยังมีเรื่องกฎหมายบางข้อและเรื่องการอำนวยความสะดวกการลงทุนที่เขากังวลอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ไปช่วยกันขยายความพร้อมสำหรับรับการลงทุน ซึ่งเราพร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคที่นักลงทุนมีความกังวลอยู่ อะไรที่แก้ให้ได้เราจะแก้ให้ก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายเรื่องกฎกติกาก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสมด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า กลุ่มทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยจากการหารือก็เช่น เทสลา ที่จะมาดูเรื่องของการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ขณะที่ไมโครซอฟท์ กูเกิล มาดูเรื่องการทำดาต้าเซนเตอร์ ที่จะมีการลงทุนสูงมาก ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อราย สำหรับการลงทุนขั้นต้น
"ถ้าจะให้ประเมินมูลค่าเงินที่จะมาลงทุนในไทยคงประเมินได้ลำบาก เพราะภาคอุตสาหกรรม เช่น เทสลา ไมโครซอฟท์ กูเกิล อย่างที่บอกไปคือลงทุนขั้นต้นประมาณ 5 พันล้านเหรียญ แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาจจะทำให้เกิดการลงทุนที่สูงกว่านั้นมาก และหากมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย มีโอกาสที่บริษัทเหล่านั้นอาจเผยแพร่ความน่าอยู่และตัวเลขเศรษฐกิจ ความเจริญของประเทศไทยให้กว้างออกไปจนนำพาให้บริษัทอื่นมาลงทุนในไทยเพิ่มด้วย ซึ่งในการประชุมเอเปกที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้ จะเชิญบริษัทขนาดกลางของไทยไปด้วยเพื่อเปิดโอกาสได้ไปเสนอตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนข้ามชาติที่เราไปลงทุนในประเทศเขา หรือเขามาลงทุนในประเทศเรา เป็นการเปิดช่องทาง สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน
นายเศรษฐา กล่าวถึงการเดินทางไปประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ว่า จะนัดหมายกับบริษัทอีกหลายบริษัท และจะเปิดให้บริษัทของไทย ที่มีความประสงค์ที่จะไปเปิดประตูการค้ากับต่างประเทศ ได้ไปพบปะกับบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าตนไปพบกับบริษัทใหญ่ๆ 2 ภาคส่วนคือภาคอุตสาหกรรมกับภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นภาคสำคัญ หากบริษัทต่างประเทศจะเข้ามาตั้งรกรากในไทย เขาก็ต้องการการสนับสนุนด้านการเงินเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการลงทุนข้ามชาติ เช่น ไทยไปสหรัฐฯ หรือสหรัฐฯ มาไทย ก็ต้องการตัวกลางที่มีความเข้มแข็ง มีความรอบรู้ทุกๆ เรื่องในแง่ของการเงิน ฉะนั้น สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นซิติแบงก์ หรือ เจพี มอร์แกน ที่เขามีใบอนุญาตในไทยครบ แต่ยังไม่ได้ขยายธุรกิจในไทยเท่าที่ควรก็ต้องไปดูว่าจะสนับสนุนเขาอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เข้ามาขยายธุรกิจในไทย ส่วนบริษัทการเงินอื่นๆ ที่มีสำนักงานในประเทศเพื่อบ้านเขาก็บอกว่าหากมีการลทุนข้ามชาติมากๆในประเทศไทยในอนาคตก็อาจมีความคุ้มค่าที่จะมาตั้งสำนักงานในไทย