เลขาธิการสภาพัฒน์ เผยไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือน มีมูลค่าสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่ม 3.6% มาอยู่ที่ 90.6 % ของ GDP ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ อุปโภค บริโภคส่วนตัว ส่วนพฤติกรรมชำระหนี้กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 น่าเป็นห่วงเริ่มมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ชี้แจงกรณีข่าวสภาพัฒน์เสนอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต อีก 3 % เพื่อเป็นแหล่งรายได้สำหรับใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น โดยยืนยันว่าเป็นแค่แนวคิดที่พูดกันในวงเสวนาเท่านั้น ยังไไม่ได้มีข้อสรุปหรือเสนอต่อหน่วยงานใด งบประมาณที่จะนำมาใช้ดูแลผู้สูงอายุอาจจะนำมาจากทางอื่นก็
นายดนุชา กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่พบว่า ไตรมาส1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือน มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% อยู่ที่ 90.6 % ของGDP โดยการก่อหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ อุปโภค บริโภคส่วนตัว มีอัตราเพิ่มขึ้น ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยมีหนี้เสียหรือ NPL อยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท
"ที่น่าจับตาคือหนี้เสียในกลุ่มกู้ซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 23,000 ล้านบาท คิดเป็น 30.3 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มอย่างต่อเนื่องทำให้กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ข้อมูลจากเครดิตบูโรไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท มีบัญชีสินเชื่อในระบบ 83.1 ล้านบัญชี โดยกลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย" นายดนุชา กล่าวและว่า ในด้านพฤติกรรมการชำระหนี้ พบว่ากลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปีมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี พบว่า ช่วงโควิด-19 มีการก่อหนี้เพิ่มเ ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปหนี้ขยายตัวสูงที่สุด เฉลี่ย 7.9% ต่อปี มูลค่ากว่า 3.6 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ สภาพัฒน์ขอเสนอให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบเครดิตบูโรเพื่อติดตามข้อมูลหนี้ได้ และให้กำกับดูแลการให้บริการสินเชื่อตามหลักเกณฑ์อย่างเข้ม และต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ที่ผิดนัดชำระ
ภาพประกอบจากเพจเฟสบุ๊คสภาพัฒน์