ฺBann Top

d0bSwA8.jpeg

กทม.จับมือมูลนิธิเพื่อสุนัขฯแก้ปัญหา"หมา-แมว"จรจัด


กทม.เซ็นเอ็มโอยูกับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยร่วมมือรจัดการประชากรสุนัขและแมวจรจัดที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รองผู้ว่าฯกทม.ระบุต้องใช้เวลา 1-2 ปี จึงเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

วันที่ 25 ก.ค.2566 ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)   รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านการจัดการประชากรสุนัขและแมวที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ระหว่างกรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย โดยมี นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนายตันติกร รุ่งพัฒนะ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการประชากรสุนัขและแมว ประเทศไทย เป็นผู้ร่วมลงนาม

รศ.ทวิดา กล่าวว่า เรื่องการจัดการและดูแลสุนัขและแมวจรจัด กรุงเทพมหานครทำเองคนเดียวไม่ไหว ต้องมีความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยกัน เพราะจำนวนสุนัขและแมวจรจัดเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และการจัดการก็ไม่ง่ายเพราะมีหลายมิติมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจไม่ใช่ทำได้โดยทันที ความยากของงานจึงมีทั้งยากในแง่การทำอย่างไรให้เรามีทรัพยากรพอที่จะจัดการงานทั้งในแง่บุคลากรและเทคนิค และในแง่ของการทำงานที่แต่ละขั้นตอนเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ความชำนาญการเฉพาะ เพราะฉะนั้นในการร่วมมือกันอาจไม่เห็นผลในทันตา ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ถึงจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

   “หวังว่าความร่วมมือระหว่างกทม.กับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย จะทำให้เราสามารถเพิ่มอัตรากำลัง เพิ่มความสามารถ เพิ่มรสนิยมในการทำงาน ในการดูแลสุนัขและแมว เพราะในปี 67 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติเองก็ได้ตั้งเป้าไว้แล้วในการทำหมัน ฝังชิพ ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ขอบคุณมูลนิธิฯ ในความร่วมมือ และกทม.พร้อมผสานการทำงานระหว่างกันให้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ทำหมันสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 18,757 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งสิ้น 106,217 ตัว และในปีงบประมาน 2566 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 ได้ทำหมันสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 17,330 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งสิ้น 110,819 ตัว ซึ่งได้ลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนสุนัขและแมวจรจัดลงได้บางส่วน ลดอุบัติการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จึงยังต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

กรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือด้านการจัดการประชากรสุนัขและแมวที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ขึ้น เพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยการผ่าตัดทำหมันสุนัขแมวจรจัดและมีเจ้าของ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ รวมถึงการให้ความรู้ คำปรึกษาและแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร

ข่าว-ภาพจาก Facebook กรุงเทพมหานคร